1.จรรยาบรรณว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัทยึดหลักปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสมอภาคและเท่าเทียมกัน ดังนั้น บริษัทจึงได้กําหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน จะต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณต่อผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ของบริษัท ดังนี้

1.1 การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น

บริษัทมีนโยบายที่จะปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และไม่กระทําการใดๆ อันเป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยมีแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. ดําเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตัดสินใจดําเนินการใดๆ ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกรายเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นโดยรวม
2. บริหารกิจการของบริษัทให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถแข่งขันได้ มีผลประกอบการที่ดี และยึดมั่นการดําเนินธุรกิจตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างความเจริญเติบโต มูลค่าเพิ่ม และให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้น
3. ปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน เปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ถือหุ้นอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ ทันเวลา และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกํากับดูแล รวมทั้งจัดให้มีช่องทาง ในการเปิดเผยข้อมูลอย่างหลากหลาย
4. กํากับดูแลการใช้ข้อมูลภายในอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการหาประโยชน์จากข้อมูลภายในให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่นในทางมิชอบ (Abusive self-dealing) หรือการดําเนินการใดๆในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความ ขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้ถือหุ้น

1.2 การปฏิบัติต่อพนักงาน

บริษัทตระหนักดีว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่าของบริษัทซึ่งจะนําพาให้บริษัทไปสู่ความสําเร็จ และบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ บริษัทจึงได้ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ปราศจากการเลือกปฏิบัติหรือการล่วงละเมิดทุกรูปแบบ จึงได้กําหนดแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอย่างเคร่งครัด
2. จัดให้มีการสรรหา คัดเลือก และจ้างงานที่เป็นธรรม โดยพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และเหมาะสมกับตําแหน่งงาน
3. ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่พนักงาน ตามความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ตําแหน่งงาน ลักษณะงาน ความรับผิดชอบ และผลการปฏิบัติงานของพนักงาน โดยสอดคล้องกับผลการดําเนินงานของบริษัท และเทียบเคียงได้กับบริษัทอื่นในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
4. จัดให้มีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับพนักงานตามที่กฎหมายกําหนด เช่น กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ การประกันอุบัติเหตุ การตรวจสุขภาพประจําปี เงินช่วยเหลือพนักงานในกรณีต่างๆ การให้ส่วนลดในการใช้บริการของบริษัท เป็นต้น
5. จัดให้มีการแต่งตั้ง การโยกย้าย การให้รางวัล และการลงโทษพนักงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยปฏิบัติด้วยความสุจริต เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความสามารถ และ ความเหมาะสมของพนักงานนั้นๆ
6. สนับสนุนและให้ความสําคัญกับการพัฒนาศักยภาพของพนักงานอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ โดยส่งเสริมให้พนักงานมีโอกาสพัฒนาความรู้ ความสามารถอย่างเหมาะสมกับภาระหน้าที่ เพื่อความก้าวหน้าในการทํางาน
7. ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยเมตตาธรรม เคารพสิทธิมนุษยชนและให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจกชน และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
8. เสริมสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศการทํางานที่ดี รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน เพื่อให้พนักงานทํางานร่วมกันอย่างมีความสุข มีความสามัคคี ทํางานเป็นทีม และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน รวมถึงวัฒนธรรมที่มีจริยธรรมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีจิตสํานึกของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเป็นพลเมืองที่ดี ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
9. ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยในสถานที่ทํางาน เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ อนามัย ชีวิต และทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ รวมทั้ง จัดให้มีการอบรม ให้ความรู้ และสร้างจิตสํานึกในเรื่องดังกล่าวให้แก่พนักงาน
10. รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อร้องเรียน และการแจ้งเบาะแสการกระทําผิดต่างๆ จากพนักงานทุกระดับอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ผ่านทางช่องทางที่บริษัทกําหนดไว้ โดยมีกระบวนการในการ ดําเนินการ การแก้ไข รวมถึงมาตรการคุ้มครองอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
11. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในการกําหนดทิศทางการทํางาน และแก้ไขปัญหาของหน่วยงาน และบริษัท
12. บริหารงานโดยระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการกระทําใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความ มั่นคงในหน้าที่การงานของพนักงาน

1.3 การปฏิบัติต่อลูกค้า

บริษัทมุ่งมั่นในการตอบสนองความต้องการและสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าในฐานะผู้มีพระคุณของบริษัทอย่างต่อเนื่อง จึงได้กําหนดแนวทางปฏิบัติดังนี้

1. สินค้าและบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ อนามัย ชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้าภายใต้ราคาที่เหมาะสมและยุติธรรม รวมทั้งคิดค้นและพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความพึงพอใจและความมั่นใจแก่ลูกค้า
2. สร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนกับลูกค้า ตลอดจนมีการสํารวจความพึงพอใจของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ
3. จัดให้มีช่องทางที่หลากหลายในการรับข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะจากลูกค้า เพื่อที่จะได้ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และนําข้อมูลดังกล่าวไปปรับปรุงหรือพัฒนาสินค้าและบริการดังกล่าวต่อไป
4. ไม่เรียก ไม่รับ หรือไม่ให้ผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตกับลูกค้า
5. ปฏิบัติต่อลูกค้าทุกรายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจ เท่าเทียมเสมอภาค
6. ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ ที่มีต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ต้องรีบ เจรจากับลูกค้าล่วงหน้า เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
7. เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ และทันต่อเหตุการณ์ โดยไม่ปกปิด บิดเบือนเนื้อหา ให้ข้อมูลเท็จ หรือทําให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อมูลที่สื่อสารออกไป
8. รักษาข้อมูลที่เป็นความลับของลูกค้าอย่างเคร่งครัด ไม่เปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงไม่นําข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ

1.4 การปฏิบัติต่อคู่ค้า

บริษัทตระหนักถึงความเสมอภาค เป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ และมีความซื่อสัตย์ในการดําเนินธุรกิจ รักษาผลประโยชน์ร่วมกันกับคู่ค้า โดยได้กําหนดแนวทางการปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. ดูแลให้มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่มีความโป่รงใส โดยปฏิบัติต่อคู่ค้าทุกรายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งกําหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติในการคัดเลือกคู่ค้าไว้อย่างชัดเจน เหมาะสมและยุติธรรม
2. ไม่เรียก ไม่รับ หรือจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตในการค้ากับคู่ค้า และจัดทําหนังสือแจ้งในเรื่องดังกล่าวให้คู่ค้าทุกรายรับทราบ และขอความร่วมมือในการปฏิบัติตาม
3. จัดทําสัญญาที่เป็นธรรม และปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ต้องรีบแจ้งให้คู่ค้าทราบเพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
4. รักษาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอ และไม่นําไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากคู่ค้า
5. รักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับคู่ค้า ตลอดจนสร้างความร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

1.5 การปฏิบัติต่อเจ้าหนี้

บริษัทมีนโยบายในการปฏิบัติต่อเจ้าหนี้ทุกรายอย่างเสมอภาค และเป็นธรรม โดยกําหนดแนวทางในการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. ปฏิบัติตามข้อกําหนด และเงื่อนไขต่างๆ ในสัญญาเงินกู้อย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องการชําระคืนเงินกู้ การดูแลหลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่ใช้เงินที่ได้รับจากการกู้ยืมไปในทางที่ขัดกับวัตถุประสงค์ในข้อตกลงที่ทําไว้กับเจ้าหนี้กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จะรีบแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบล่วงหน้า เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
2. ไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริต ปกปิดข้อมูลหรือข้อเท็จจริง อันจะทําให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย
3. ไม่เรียก ไม่รับ หรือไม่ให้ผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตกับเจ้าหนี้
4. เปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงเวลาให้แก่เจ้าหนี้อย่างสม่ำเสมอ
5. บริหารงานเพื่อให้เจ้าหนี้มั่นใจในฐานะทางการเงิน และความสามารถในการชําระหนี้ที่ดีของบริษัท

 1.6 การปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า

บริษัทมีนโยบายในการดําเนินธุรกิจภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยยึดปฏิบัติดังนี้

1. บริษัทมีนโยบายในการดําเนินธุรกิจภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยยึดปฏิบัติดังนี้
2. ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต หรือไม่เหมาะสม
3. ไม่ทําลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้า ด้วยการกล่าวหาในทางร้ายแก่คู่แข่งทางการค้าโดยปราศจากข้อเท็จจริง หรือกระทําการใดๆ ที่ไม่เป็นธรรมต่อการแข่งขัน

1.7การปฏิบัติต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

บริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกําหนดแนวปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. ดูแล ป้องกันและหลีกเลี่ยงการดําเนินงานของบริษัทอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคม ชุมชน และ สิ่งแวดล้อม
2. ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ คําสั่ง และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่าง เคร่งครัด รวมทั้งให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อเหตุการณ์ใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการดําเนินธุรกิจของบริษัท
3. สนับสนุนกิจกรรมต่างๆเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมตามกําลังความสามารถ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4. ฝึกอบรม ให้ความรู้ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้แก่บุคลากรทุกระดับของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลูกฝังจิตสํานึกให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
5. ดําเนินธุรกิจโดยคํานึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า และส่งเสริมการนําทรัพยากร กลับมาใช้ใหม่
6. กําหนดให้การจัดการพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการดําเนินงานมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง และกําหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานในแต่ละปี โดยถือว่าการอนุรักษ์พลังงานเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารและพนักงานทุกคน

2.จรรยาบรรณว่าด้วยการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ

บริษัทให้ความสําคัญกับการดําเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจารีตประเพณีและศีลธรรมอันดี อย่างเคร่งครัด จึงได้กําหนดแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้

2.1 ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเคารพจารีตประเพณีท้องถิ่นที่บริษัทเข้าไปดําเนินธุรกิจและศีลธรรมอันดี เช่น กฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ภาษีอากร สารเสพติด ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
2.2 เคารพจารีตประเพณีท้องถิ่นที่บริษัทเข้าไปดําเนินธุรกิจและศีลธรรมอันดี
2.3 ไม่ช่วยเหลือ สนับสนุน ร่วมมือ หรือส่งเสริมการหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ กฎเกณฑ์ จารีตประเพณี และศีลธรรมอันดี
2.4 ไม่ช่วยเหลือ สนับสนุน ร่วมมือ หรือส่งเสริมการหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ กฎเกณฑ์ จารีตประเพณี และศีลธรรมอันดี

3.จรรยาบรรณว่าด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน

บริษัทเคารพต่อคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน โดยไม่กระทําการใดๆ และไม่ส่งเสริมการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้

3.1 ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกันบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และให้ความเคารพ ต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
3.2 มีกระบวนการในการว่าจ้าง ฝึกอบรม และให้ผลตอบแทนแก่พนักงาน อย่างเสมอภาค ยุติธรรม โปร่งใส โดยให้ความสําคัญในเรื่องความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการทํางานเป็นหลัก มิได้คํานึงถึงเชื้อชาติ สัญชาติ ภาษา ศาสนา ชนชั้น เพศ อายุ และการศึกษา
3.3 เคารพในความเป็นส่วนตัวของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน โดยรักษาข้อมูลส่วนบุคคลไว้เป็นความลับ และไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวไปยังบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก เจ้าของข้อมูล หรือได้กระทําไปตามระเบียบบริษัทหรือกฎหมาย
3.4ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และไม่สนับสนุนกิจการที่ล่วงละเมิดหลักสิทธิ มนุษยชน เช่น การใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น

4.จรรยาบรรณว่าด้วยการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

4.1 ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท โดยไม่นําทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทไปทําซ้ำ ดัดแปลง หรือ กระทําใดๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัท
4.2 ไม่กระทําการใดๆ ที่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นและหากพบเห็นการกระทําที่เป็นหรืออาจจะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้แจ้งผู้บังคับบัญชาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผ่านทางช่องทางที่บริษัทกําหนดไว้
4.3 ปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมาย ข้อบังคับ และข้อผูกพันตามสัญญาทั้งหมดเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ทางปัญญาของบุคคลอื่น รวมถึงสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ ความลับทางการค้าและข้อมูลกรรมสิทธิ์อื่นๆ
4.4 ในกรณีที่มีงานอันมีลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่นใดเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของพนักงาน ลิขสิทธิ์ หรือทรัพยสินทางปัญญาเหล่านั้น ย่อมตกเป็นของบริษัท
4.5 การนําซอฟต์แวร์ใดๆ มาใช้ในระบบสารสนเทศของบริษัท จะต้องได้รับอนุญาตและมีลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง ตามกฎหมายเท่านั้น และห้ามคัดลอกซอฟต์แวร์ ลิขสิทธิ์ด้วยเหตุผลใดๆ โดยมิได้รับอนุญาตจากบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์นั้นๆ

5.จรรยาบรรณว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น

5.1 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับของบริษัท ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอรัปชั่น และจรรยาบรรณธุรกิจ รวมทั้งระเบียบข้อบังคับ และคู่มือการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องของบริษัท โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม
5.2 ในการดําเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงกับการเกิดคอรัปชั่น บริษัทกําหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องต่อไปนี้ด้วยความระมัดระวัง

1.) การให้และรับสินบน
ห้ามให้หรือรับสินบนในรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อตอบแทนการให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจ และห้ามมอบหมายให้ผู้อื่นให้หรือรับสินบนแทนตนเอง
2.) ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
การให้หรือรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นส่วนสําคัญในการสร้างหรือคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การให้หรือรับของขวัญ และการเลี้ยงรับรองต้องเป็นไปตามการกระทําในวิสัยที่สมควร ตามขนบธรรมเนียม ประเพณีปฏิบัติ และตามปกติธุรกิจ รวมทั้งจะต้องเป็นไปตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของบริษัท และถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องมีมูลค่าพอสมควรตามสถานการณ์ และไม่เป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติซึ่งอาจนําไปสู่ปัญหาการคอรัปชั่น
3.)การช่วยเหลือทางการเมือง
บริษัทมีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่มีนโยบายให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนทางการเงิน หรือ ทรัพย์สินใดๆ แก่พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หรือนักการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม บริษัทเคารพในสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของพนักงาน อย่างไรก็ตามจะต้องไม่กระทําในนามของบริษัท
4.)การบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ และเงินสนับสนุน

• การให้เงิน หรือทรัพย์สินของบริษัทเพื่อบริจาคการกุศล ต้องกระทําในนามบริษัทเท่านั้น โดยการบริจาคเพื่อการกุศลต้องเป็นมูลนิธิ องค์กรสาธารณะกุศล วัด โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือองค์กรเพื่อประโยชน์สังคมที่มีใบรับรองหรือเชื่อถือได้ สามารถตรวจสอบได้ โดยจะต้องจัดทําบันทึกระบุชื่อผู้รับการบริจาค วัตถุประสงค์ในการบริจาค พร้อมเอกสารประกอบ เพื่อเสนอ ต่อผู้มีอํานาจอนุมัติ
• การใช้เงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนโครงการต้องระบุชื่อในนามบริษัทเท่านั้น โดยเงินสนับสนุนต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ภาพลักษณ์ที่ดีและชื่อเสียงของบริษัท ทั้งนี้ ต้องมีการระบุวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและมีหลักฐานที่ตรวจสอบได้ โดยจะต้องจัดทําบันทึกระบุชื่อผู้รับ สนับสนุน วัตถุประสงค์ในการให้เงินสนับสนุน พร้อมเอกสารประกอบ เพื่อเสนอต่อผู้มีอํานาจอนุมัติ
• การให้หรือรับเงินบริจาคเพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์ หรือเงินสนับสนุนจะต้องไม่ถูกนําไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน

5.3 ในการจัดซื้อ จัดจ้าง ต้องดําเนินการตามขั้นตอนที่กําหนดระเบียบของบริษัท โดยมีความโปร่งใส และ สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงดําเนินการประเมินเพื่อคัดเลือกผู้ขาย ผู้ให้บริการตามระเบียบการจัดซื้อ อย่างเคร่งครัด และทําหนังสือแจ้งให้ผู้ขาย ผู้ให้บริการทราบถึงนโยบายและมาตรการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นของบริษัท รวมทั้งช่องทางในการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน นอกจากนั้น บริษัทสงวนสิทธิ์ ที่จะยกเลิกการจัดซื้อ จัดจ้าง หากพบว่าผู้ขาย ผู้ให้บริการกระทําการคอรัปชั่นให้สินบน
5.4 เมื่อพบเห็นการกระทําที่เข้าข่ายคอรัปชั่น พนักงานจะต้องไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย ต้องแจ้งให้ ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ หรือแจ้งผ่านช่องทางการรับแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียน รวมทั้งให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ และหากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษา กับผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบผ่านทางช่องทางต่างๆ ที่กําหนดไว้
5.5 จัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน มีมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการคอรัปชั่น และเก็บข้อมูลการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนไว้เป็นความลับ รวมทั้งมีกระบวนการตรวจสอบอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
5.6 ผู้ที่กระทําการคอรัปชั่น จะได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท ซึ่งอาจจะถึงขั้นให้ออกจากงาน และ/หรือพ้นจากตําแหน่ง รวมทั้งอาจถูกดําเนินคดีตามกฎหมาย หากการกระทํา การนั้นผิดกฎหมาย
5.7 จัดให้มีการบริหารความเสี่ยงด้านคอรัปชั่น โดยมีการประเมินความเสี่ยงจากการทําธุรกรรมต่างๆของ บริษัทที่อาจมีขั้นตอนหรือกระบวนการที่เข้าข่ายการคอรัปชั่น และกําหนดมาตรการจัดการความเสี่ยง รวมทั้งติดตามและทบทวนมาตรการจัดการความเสี่ยงที่ใช้อยู่ให้มีความเหมาะสม เพื่อที่จะควบคุมความ เสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
5.8 จัดให้มีกระบวนการบริหารงานบุคคลให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านคอรัปชั่น เริ่มตั้งแต่การสรรหา หรือการคัดเลือกบุคลากร การฝึกอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนตําแหน่ง การให้ ผลตอบแทน กระบวนการจ้างงาน การจัดโครงสร้างองค์กรให้มีการแบ่งแยกหน้าที่อย่างเหมาะสม ให้เกิดการตรวจสอบ ถ่วงดุล
5.9 จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยกระบวนการตรวจสอบภายในครอบคลุมกิจกรรมที่สําคัญของบริษัท เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การตลาด เป็นต้น และระบบการควบคุมภายในครอบคลุมถึงด้านการเงิน การบัญชี และการจัดเก็บและบันทึกข้อมูล
5.10 มีการสื่อสารนโยบายการต่อต้านคอรัปชั่น รวมถึงแจ้งช่องทางการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนให้ทุกคนในองค์กร เข้าใจ ยอมรับ และนําไปสู่การปฏิบัติ ผ่านทางช่องทางสื่อสารต่างๆ ของบริษัท เช่น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) เว็บไซต์ ติดประกาศบนบอร์ดประชาสัมพันธ์ เป็นต้น รวมทั้งจัดให้มีการปฐมนิเทศแก่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานใหม่ทุกคนของบริษัท และจัดให้มีการฝึกอบรมนโยบายนี้อย่างสม่ำเสมอแก่พนักงานทุกคน เพื่อสร้างความเข้าใจในการนํานโยบายไปปฏิบัติ
5.11 มีการสื่อสารนโยบายการต่อต้านคอรัปชั่น รวมถึงแจ้งช่องทางการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนให้แก่ สาธารณชน และผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ ของบริษัท เช่น เว็บไซต์ รายงานประจําปี เป็นต้น
5.12 จัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติงานตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นเป็นประจํา ตลอดจนทบทวนแนวปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบปฏิบัติ และข้อกําหนดทาง กฎหมาย อย่างสม่ำเสมอ

6 จรรยาบรรณว่าด้วยการรับ การให้ของขวัญ ทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใด

6.1 ไม่เรียกร้องของขวัญ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากลูกค้า คู่ค้า หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบริษัท
6.2 ไม่รับหรือให้รับเงิน สิ่งของ หรือผลประโยชน์ใดๆ จากลูกค้า คู่ค้า หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบริษัท โดยมีเจตนาเพื่อจูงใจให้ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติในทางที่มิชอบ หรือกระทําผิดกฎหมาย
6.3 หลีกเลี่ยงการให้หรือรับของขวัญ หรือของกํานัลใดๆ จากลูกค้า คู่ค้า หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจกับ บริษัท เว้นแต่ในโอกาสหรือเทศกาลตามประเพณีนิยม โดยมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท และต้องไม่มีข้อผูกมัดทางธุรกิจมาเกี่ยวข้องหรือไม่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงธุรกิจใดๆ ในกรณีที่มีมูลค่าสูงกว่า 3,000 บาท ให้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และดําเนินการส่งมอบของขวัญนั้นให้แก่บริษัทโดยไม่ชักช้า
6.4 หลีกเลี่ยงการให้หรือรับเลี้ยงรับรองในลักษณะที่เกินกว่าเหตุหรือไม่เหมาะสมกับความสัมพันธ์ปกติกับลูกค้า คู่ค้า หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบริษัท
6.5 สามารถรับเชิญไปดูงานสัมมนาและทัศนะศึกษา ซึ่งคู่ค้าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเดินทางให้ได้ ทั้งนี้ เฉพาะเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจ และต้องผ่านการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาเท่านั้น แต่ห้ามรับเงิน หรือประโยชน์อื่นใดจากคู่ค้า

7. จรรยาบรรณว่าด้วยความขัดแย้งทางผลประโยชน์

การกระทําใดๆของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน จะต้องยึดถือประโยชน์ของบริษัทเป็นสําคัญ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยบริษัทได้กําหนดแนวทางใน การปฏิบัติดังนี้

7.1 กําหนดไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ดังกล่าว แสวงหาผลประโยชน์ ส่วนตัวที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัท โดยหลีกเลี่ยงการกระทําที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเกิดจากการติดต่อกับผู้ที่เกี่ยวข้องทางการค้าของบริษัท เช่น คู่ค้า ลูกค้า คู่แข่ง หรือการใช้โอกาส หรือข้อมูลที่ได้จากตําแหน่งหน้าที่ในบริษัทในการหาประโยชน์ส่วนตัว และการทําธุรกิจ หรือการกระทําใดๆ อันเป็นการแข่งขันกับบริษัท หรือมีลักษณะเดียว หรือใกล้เคียง กับบริษัท หรือทํางานอื่นนอกเหนือจากงานบริษัท ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการกระทําที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวโยงกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต้องแจ้งให้บริษัททราบถึงความสัมพันธ์ หรือการเกี่ยวโยงของตนในรายการดังกล่าว และต้องไม่เข้าร่วมการพิจารณาตัดสิน รวมถึงไม่มีอํานาจอนุมัติในธุรกรรมนั้นๆ
7.2 กรณีที่มีการทํารายการที่เกี่ยวโยงกับบริษัท บริษัทจะจัดให้มีกระบวนการและการจัดการที่ชัดเจนและโปร่งใสเกี่ยวกับการทํารายการระหว่างบริษัทกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความจําเป็นและความเหมาะสมของรายการนั้น อย่างรอบคอบ เพื่อนําไปใช้ประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท และ/หรือผู้ถือหุ้นตามแต่กรณี โดยกรรมการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์จะต้องไม่อยู่ในที่ประชุมเพื่อร่วมพิจารณา และไม่มีสิทธิออกเสียงหรืออนุมัติในรายการนั้น นอกจากนั้น จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกํากับตลาดทุน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด ในเรื่องการกําหนดราคาและเงื่อนไขต่างๆ กับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ให้เสมือนทํารายการกับบุคคลภายนอกที่มีข้อตกลงทางการค้าในลักษณะเดียวกับที่ กระทํากับคู่สัญญาทั่วไป โดยคํานึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทเป็นสําคัญ และจะต้องเปิดเผยการทํารายการไว้ในงบการเงิน รายงานประจําปี โดยจัดให้มี การเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องและเพียงพอ
7.3 ในกรณีที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานไปเป็นกรรมการ หุ้นส่วน หรือที่ปรึกษาในองค์กรอื่น การดํารงตําแหน่งนั้น ต้องไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท และการปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในบริษัท
7.4 ในกรณีที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน หรือบุคคลในครอบครัวเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้ถือหุ้นในธุรกิจที่เป็นการแข่งขัน หรือมีลักษณะเดียวกับบริษัท หรือกิจการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท จะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา และประธานกรรมการบริษัททราบเป็นลายลักษณ์อักษร

8.จรรยาบรรณว่าด้วยการรักษาความลับ การใช้ข้อมูลภายใน และการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท

เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทที่ ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน รวมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาเกี่ยวกับความเหมาะสมของการซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลภายใน บริษัทจึงได้ออกระเบียบปฏิบัติเพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทถือปฏิบัติ ดังนี้

8.1 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ต้องรักษาความลับ และ/หรือข้อมูลภายในของบริษัท ไม่นําไปเปิดเผย และดูแลระมัดระวังมิให้เอกสารหรือข้อมูลอันเป็นความลับของบริษัทรั่วไหลหรือตกไปถึงผู้ ที่ไม่เกี่ยวข้อง อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท หรือแสวงหาประโยชน์แก่ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แม้หลังพ้นสภาพหรือสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่แล้ว รวมทั้ง ต้องไม่ทําการซื้อขาย โอนหรือรับโอน หลักทรัพย์ของบริษัท โดยใช้ความลับและ/หรือข้อมูลภายในของ บริษัท และ/หรือเข้าทํานิติกรรมอันใดโดยใช้ความลับ และ/หรือข้อมูลภายในของบริษัทอันอาจก่อให้เกิด ความเสียหายต่อบริษัท ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
8.2 กรรมการ ผู้ริหาร และพนักงานในหน่วยงานที่ได้รับข้อมูลภายในของบริษัท ต้องไม่ใช้ข้อมูลดังกล่าวก่อนเปิดเผยสู่สาธารณชน และจะต้องไม่ทําการซื้อขาย โอนหรือรับโอน หลักทรัพย์ของบริษัท ในช่วง ระยะเวลา 1 เดือน ก่อนที่งบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจําปีจะเปิดเผยสู่สาธารณชน และหลังการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอย่างน้อย 1 วันทําการ
8.3 กรรมการและผู้บริหารทุกคนต้องลงนามรับทราบภาระหน้าที่ในการรายงานการถือหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทของตน รวมถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่ง ตลอดจนรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 วันทําการนับจากวันที่ซื้อ ขาย โอน หรือรับโอน และต้องแจ้งให้บริษัททราบ รวมทั้งรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททราบทุกไตรมาส

ทั้งนี้ ข้อกําหนดดังกล่าวได้รวมความถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทด้วย หากผู้ใดฝ่าฝืนข้อกําหนดดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษทางวินัย และ/หรือตามกฎหมายแล้วแต่กรณี

9.จรรยาบรรณว่าด้วยการปกป้อง ดูแลทรัพย์สินของบริษัท

บริษัทส่งเสริมให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้ทรัพย์สินของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยได้กําหนดแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้

9.1 การปกป้อง ดูแลทรัพย์สินของบริษัท

1.  ดูแลรักษาทรัพย์สินของบริษัทให้อยูในสภาพดี มิให้สูญหายหรือเสื่อมค่า

2. ใช้ทรัพย์สินของบริษัทอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท รวมทั้งไม่นําไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือนอกเหนือจากงาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจ และ/หรือ ได้ชำระมูลค่าตามราคาอันสมควร

9.2 การจัดทำเอกสาร

1. จัดทําเอกสารและรายงานต่างๆ รวมทั้งรายงานทางบัญชีและการเงิน อย่างรอบคอบด้วยความสุจริต ทันเวลา ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นไปตามมาตรฐาน โดยมีข้อมูลประกอบที่สามารถอ้างอิงได้ มีการปรับปรุงให้ทันสมัย รวมทั้ง มีการจัดเก็บและรวบรวมให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
2. ห้ามปลอมแปลงจดหมาย รายงาน หรือเอกสารของบริษัท

9.3 การใช้คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร

1. คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศต่างๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ถือเป็นทรัพย์สินของบริษัท จึงไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่น
2. รักษารหัสประจําตัว (Password) ที่ใช้ในการเข้าถึงระบบข้อมูลของบริษัทเป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้แก่ บุคคลอื่น
3. ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่อยู่ในระบบข้อมูลของบริษัทแก่ผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต
4. ห้ามเปลี่ยนแปลง ทําซ้ำ ลบทิ้ง หรือทําลายข้อมูลของบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาต
5. ห้ามนําซอฟแวร์ที่ผิดกฎหมายมาใช้ และห้ามคัดลอกซอฟท์แวร์ลิขสิทธิ์ด้วยเหตุผลใดๆ โดยมิได้รับ อนุญาตจากบริษัทผู้ผลิตซอฟท์แวร์นั้นๆ
6. ห้ามปรับแต่งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ หรือติดตั้งอุปกรณ์ใดๆที่นอกเหนือจากอุปกรณ์มาตรฐานที่บริษัทติดตั้งให้
7. ห้ามใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) ของบริษัทในการส่งต่อข้อความที่กล่าวร้าย ทําให้เสื่อมเสีย หรือข้อความที่ไม่เหมาะสม หรือสร้างความรําคาญให้แก่ผู้อื่น
8. ควรใช้อินเตอร์เน็ตในการแสวงหาข้อมูล และความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน และหลีกเลี่ยงเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายหรือละเมิดศีลธรรมอันดีงาม รวมทั้งไม่เผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารของเว็บไซต์ดังกล่าวต่อบุคคลอื่น
9. ใช้อุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ที่บริษัทจัดให้ เช่น โทรศัพท์ โทรสาร โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น อย่างมีจิตสํานึก และรับผิดชอบ โดยคํานึงถึงประโยชน์ของบริษัทเป็นหลัก

10. จรรยาบรรณว่าด้วยการควบคุมภายใน

10.1 จัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมในกิจกรรมทุกด้านของบริษัท มีการประเมินความเสี่ยงที่ เหมาะสม เพื่อให้มีกิจกรรมการควบคุมที่ดีในทุกหน้าที่ มีการกําหนดระเบียบมาตรฐานของการ ปฏิบัติงาน เพื่อการทํางานที่โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยมีการกําหนดอํานาจหน้าที่และความ รับผิดชอบของผู้บริหารและพนักงานไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน มีการแบ่งแยกหน้าที่ของ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ควบคุมและประเมินผลออกจากกัน เพื่อให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ มี การจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีระบบติดตามและประเมินผล เพื่อให้มั่นใจว่าระบบมีความ เหมาะสม ปฏิบัติได้จริง และมีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการทํางาน และปัจจัย ความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย
10.2 จัดให้มีหน่วยงานอิสระรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบทําหน้าที่ในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เป็นตามระเบียบที่วางไว้
10.3 พนักงานมีหน้าที่สนับสนุนการทํางานและให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และครบถ้วนแก่หน่วยงานตรวจสอบภายในและผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกในการปฏิบัติงานตรวจสอบ รวมทั้ง มีหน้าที่ ตรวจสอบความถูกต้องทางการเงิน และรายงานในทันทีเมื่อพบข้อผิดพลาดหรือความไม่ชอบมาพากล

11. จรรยาบรรณว่าด้วยการให้ข้อมูล ข่าวสาร และการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน หรือสาธารณชน และนักลงทุนสัมพันธ์

11.1 การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้อง และระมัดระวัง ทันเวลา เท่าเทียมและเป็นธรรม ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และข้อกําหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดจนหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการปฏิบัติใดๆ ของบริษัทจดทะเบียน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
11.2 บริษัทกําหนดให้ประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร/กรรมการผู้จัดการ รองกรรมการผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบัญชีและการเงิน เป็นผู้มีอํานาจในการให้สัมภาษณ์ หรือตอบคําถามผู้ถือหุ้น นักลงทุน สื่อมวลชน และบุคคลภายนอก ผู้บริหารระดับสูงท่านอื่นอาจให้ข้อมูลได้ โดยได้รับมอบหมายจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร/กรรมการผู้จัดการ
11.3 บริษัทกําหนดให้นักลงทุนสัมพันธ์มีหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุน และสถาบันการเงิน โดยหน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูลมีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลให้แก่นักลงทุนสัมพันธ์
11.4 นักลงทุนสัมพันธ์จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในวิชาชีพ บนพื้นฐานของหลักการของความเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยยึดผลประโยชน์ของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ รักษาความลับของบริษัทและไม่ใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตน
11.5 ละเว้นหรือหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูล ข่าวสาร หรือสัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหรือต่อสาธารณชนใดๆในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยตนเองไม่มีอํานาจหน้าที่ หรือเรื่องอันใดที่อาจกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และการดําเนินงานของบริษัท

จรรยาบรรณของกรรมการและผู้บริหาร

  1. ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ มติคณะกรรมการบริษัท และมติของผู้ถือหุ้น รวมทั้งนโยบายของบริษัทและหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี
  2. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ความระมัดระวัง รอบคอบ โปร่งใส เป็นธรรมและสามารถ ตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท โดยคํานึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
  3. อุทิศเวลาเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มกําลังความรู้ความสามารถ รวมถึงการเข้าร่วมประชุมทุก ครั้ง เว้นแต่มีเหตุจําเป็น
  4. รักษาข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัทไม่ให้รั่วไหล และไม่เปิดเผยข้อมูลสารสนเทศที่เป็นความลับของ บริษัทไปยังบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทหรือผู้มีส่วนได้เสีย ยกเว้น กรณีที่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย
  5. ปฏิบัติหน้าที่โดยหลีกเลี่ยงการกระทําใดๆ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึง
    • –  ไม่แสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบจากการทํางานไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
    • –  ไม่นําข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
    • –  ไม่กระทําการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ ในบริษัทอื่นที่มีผลบั่นทอนผลประโยชน์ของบริษัท
    • –  ไม่ดําเนินการใดๆ ที่เป็การแข่งขันกับกิจการของบริษัท ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
    • –  ไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียจากการทําสัญญาของบริษัท

ไม่รับสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดอันเป็นการขัดต่อประโยชน์ของบริษัท

จรรยาบรรณพนักงาน

1.การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท

1.1 ผู้ถือหุ้น   เปิดเผย หรือให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับผู้สอบบัญชีและผู้ตรวจสอบภายในทั้งจากภายในและภายนอก รวมทั้งปฏิบัติตามจรรยาบรรณว่าด้วยการให้ข้อมูล ข่าวสาร การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน หรือสาธารณชน และนักลงทุนสัมพันธ์
1.2 พนักงาน    ปฏิบัติต่อผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานด้วยความยุติธรรม เสมอภาค จริงใจ ให้เกียรติ สมัครสมาน สามัคคี ไม่กล่าวร้ายผู้อื่นโดยปราศจากข้อเท็จจริง
1.3 ลูกค้า คู่ค้า และเจ้าหนี้    ปฏิบัติต่อลูกค้า คู่ค้า และเจ้าหนี้อย่างเสมอภาค และเป็นธรรม ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอ ปฏิบัติตามเงื่อนไข ข้อกำหนด และข้อตกลงต่างๆ ที่ได้ระบุไว้ในสัญญา
1.4 คู่แข่ง    ปฏิบัติภายใต้กรอบกติกา ไม่กีดกัน แสวงหาความลับโดยมิชอบหรือทำลายชื่อเสียงโดยปราศจากข้อเท็จจริง
1.5 สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม    ประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมและขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ละเว้นจาก อบายมุขและยาเสพติดทั้งปวง ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

2. การปฏิบัติต่อบริษัท

2.1 ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ    รวมถึง วิสัยทัศน์ เป้าหมาย ภารกิจ ค่านิยมองค์กร คําสั่ง ประกาศ นโยบายของบริษัท และไม่มีส่วนรู้เห็นหรือช่วยเหลือหรือกระทําการใดๆ อันเป็นการละเมิดหรือฝ่าฝืน
2.2 เคารพสิทธิมนุษยชน    ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความสุภาพ มีไมตรีจิต เสมอภาค จริงใจ ให้เกียรติ เคารพสิทธิส่วนบุคคล และไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งทางตรงและทางอ้อม
2.3 ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา    ไม่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ได้รับอนุญาต เช่น ซอฟท์แวร์ ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตร ไม่ติดตั้ง ปรับแต่ง เปลี่ยนแปลงค่าต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ ไม่ทำซ้ำซอฟท์แวร์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากบริษัท เท่านั้น
2.4 ต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น   ไม่สนับสนุนการทุจริตและคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ
2.5 การรับ การให้ของขวัญ ทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใด   หลีกเลี่ยงการให้และการรับของขวัญ สินบน ผลประโยชน์ หรือสิ่งตอบแทนอย่างหนึ่งอย่างใด กับหน่วยงานของรัฐและเอกชน ลูกค้า คู่ค้า โดยหากปฏิเสธไม่ได้ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบ
2.6 ความขัดแย้งทางผลประโยชน์    หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท โดยจะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เช่น ตนเอง บุคคลในครอบครัว และ/หรือญาติมีส่วนร่วมในธุรกิจที่เป็นการแข่งขันกับบริษัท หรือเป็นคู่ค้ากับบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อม
2.7 รักษาความลับ การใช้ข้อมูลภายใน และการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท    ไม่เปิดเผยข้อมูลของบริษัท ลูกค้า คู่ค้า ยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงไม่หาประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว หากพนักงานออกจากงาน จะต้องมอบรายงานข้อมูลทั้งหมดคืนให้กับบริษัทให้ครบถ้วน ไม่ใช้ข้อมูลภายในของบริษัทในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท
2.8 การปกป้องและดูแลทรัพย์สินของบริษัท    พนักงานทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาทรัพย์สินของบริษัทให้อยู่ในสภาพที่ดี ปราศจากการสูญเสียและสูญหาย และไม่ใช้ทรัพย์สินของบริษัทเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจ และ/หรือได้ชำระค่าใช้จ่ายตามราคาอันสมควร
2.9 ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ    ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รับผิดชอบ ขยันหมั่นเพียร พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่ใช้เวลาปฏิบัติงานของบริษัทไปทำงานอื่นหรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ขณะที่เป็นพนักงานของบริษัท ห้ามมิให้ทำงานหรือทำสัญญาว่าจ้างกับบริษัทอื่น
2.10 รักษาชื่อเสียงและภาพพจน์ของบริษัท
2.10.1 หลีกเลี่ยงการกระทําใดๆ อันจะนําไปสู่ความเสื่อมเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัท

2.10.2 ไม่ใช่เทคโนโลยีสารสนเทศไปในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบริษัท ต่อผู้อื่น หรือผิดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ตัวอย่างเช่น การเก็บ การส่งผ่าน หรือการเข้าถึงข้อมูลที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือสื่อที่ผิดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม เป็นต้น
2.10.3 ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ

–   ไม่ใช้แบรนด์หรือชื่อบริษัทแทนการระบุตัวตนในประวัติส่วนตัวออนไลน์ ตัวอย่างเช่น การใช้ชื่อแบรนด์หรือชื่อบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบล๊อคหรือเฟสบุ๊ค เป็นต้น
–   ไม่โพสต์ข้อความหรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจเชื่อมโยงกับชื่อแบรนด์หรือบริษัท เช่น การถ่ายภาพในสถานที่ทำงานหรือภาพเอกสารต่างๆ ของบริษัทลงบนสื่อออนไลน์ทุกประภาพ การโพสต์ รูปภาพไม่เหมาะสมขณะใส่ชุดเครื่องแบบพนักงาน การแสดงความคิดเห็นเชิงหมิ่นประมาท ล่วงละเมิดต่อบุคคลในบริษัทหรือบุคคลภายนอก การโพสต์ข้อความหรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสม เป็นความลับ ไม่ได้รับการอนุมัติ หรือละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น

การดูแลให้มีการปฏิบัติตาม และการทบทวน

  1. กำหนดให้มีการสื่อสารจรรยาบรรณธุรกิจแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนเพื่อให้รับทราบ และเข้าใจ
  2. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนมีหน้าที่ต้องรับทราบ ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามคู่มือจรรยาบรรณธุรกิจอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยไม่แน่ใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น หรือฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
  3. ผู้บริหารทุกระดับในองค์กรจะต้องพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามจรรยาบรรณ และมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการสอดส่องดูแลและส่งเสริมให้พนักงานภายใต้สายบังคับบัญชาของตนรับทราบ เข้าใจ และปฏิบัติตามคู่มือจรรยาบรรณธุรกิจอย่างจริงจัง
  4. เมื่อมีการพบเห็นการกระทำใดๆ ที่เป็นการละเว้นหรือละเมิดจรรยาบรรณนี้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมีหน้าที่ต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตน หรือบุคคล/หน่วยงานที่รับผิดชอบทราบ หรือแจ้งผ่านช่องทางการรับแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียน รวมทั้งให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งนี้ บริษัทมีมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนไว้เป็นความลับ รวมทั้งมีกระบวนการตรวจสอบอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

กำหนดให้มีการทบทวนและปรับปรุงคู่มือจรรยาบรรณธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทันสมัย และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

การแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน และข้อเสนอแนะ

บริษัทเปิดโอกาสให้พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ได้เสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อร้องเรียน และการแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่น การฉ้อฉล รวมถึงการกระทำผิดกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ จรรยาบรรณทางธุรกิจ และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังนี้

1. ช่องทางการรับแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน และข้อเสนอแนะ

– อีเมล์ของนักลงทุนสัมพันธ์ ที่ [email protected]
– ทางไปรษณีย์ จ่าหน้าซองถึง

นักลงทุนสัมพันธ์
บริษัท ทราวิซโก อินโนเทค จำกัด
เลขที่ 3455 อาคาร ทีทีซี พาร์ค ทาวเวอร์ ชั้น 4 ถนนพระราม 9 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250

2. การคุ้มครองและรักษาความลับ

– ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนจะได้รับความคุ้มครองสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือบุคคลภายนอก
– บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการคอร์รัปชั่นโดยบริษัทจะไม่เปลี่ยนตำแหน่งงาน ลักษณะงาน สถานที่ทำงาน สั่งพักงาน ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานดังกล่าว
– บริษัทจะดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน และบันทึกการสอบสวนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน รวมทั้งดำเนินการจัดเก็บเอกสารการร้องเรียนเป็นความลับ ห้ามเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด

3. ขั้นตอนการดำเนินการสืบสวน

– เมื่อได้รับการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน ผู้รับเรื่องจะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง แล้วส่งเรื่องต่อให้เลขานุการบริษัท
– นักลงทุนสัมพันธ์จะเชิญตัวแทนจากฝ่ายบริหารเข้าร่วมพิจารณากลั่นกรอง สืบสวนข้อเท็จจริง โดยตัวแทนจากฝ่ายบริหารประกอบด้วย
– ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงาน
– ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล
– ผู้จัดการฝ่ายของผู้แจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน (กรณีเป็นพนักงานบริษัท)

โดยมีนักลงทุนสัมพันธ์เข้าร่วมเพื่อสังเกตการณ์

– ระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริง อาจจะมอบหมายให้นักลงทุนสัมพันธ์ แจ้งผลความคืบหน้าเป็นระยะให้ผู้แจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนได้ทราบ
– หากการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อมูลหรือหลักฐานที่มีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดจริง บริษัทจะให้สิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อกล่าวหา และให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ตนเอง โดยการหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ตามที่ได้ถูกกล่าวหา

บทลงโทษ

กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามและส่งเสริมให้ผู้อื่นปฏิบัติตามจรรยาบรรณ โดยการกระทำต่อไปนี้ถือเป็นการผิดจรรยาบรรณ

  1. ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ
  2. แนะนำ ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้อื่นไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ
  3. ละเลย เพิกเฉย เมื่อพบเห็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ในกรณีที่ตนทราบ หรือควรทราบ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับงานภายใต้ความรับผิดชอบของตน
  4. ไม่ให้ความร่วมมือ หรือขัดขวางการสอบสวนข้อเท็จจริงที่อ้างว่าได้มีการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตาม จรรยาบรรณ
  5. การกระทําอันไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้องเรียนจากการรายงานการไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ

บริษัทถือว่าจรรยาบรรณเป็นวินัยอย่างหนึ่งซึ่งกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การฝ่าฝืน หรือการกระทําผิดจรรยาบรรณธุรกิจที่กําหนดไว้ จะได้รับโทษทางวินัยอย่างเคร่งครัด รวมทั้งอาจ ถูกดําเนินคดีตามกฎหมาย หากการกระทําการนั้นผิดกฎหมาย